09 พฤษภาคม 2565

AMR - ตลาดศาลายา เล็งติดตั้ง "ตู้สับเปลี่ยนแบตใช้พลังงานไฟฟ้า"

AMR หารือผู้บริหารตลาดศาลายา บูรณาการความร่วมมือติดตั้งตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ใช้พลังงานไฟฟ้าให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างและรถบริการลูกค้าของตลาด เร่งสำรวจจุดและปริมาณความต้องการก่อนเดินหน้าผลักดันเพื่อยกระดับศาลายาสมาร์ทซิตี้ เน้นพัฒนาเป็นพื้นที่ปลอดมลพิษให้พร้อมเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีแดงและไฮสปีดเทรน

นายมารุต ศิริโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย www.ucdnews.com ว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาได้เข้าหารือร่วมกับนายโสภณ ยงใจยุธ ผู้บริหารของตลาดศาลายาเพื่อบูรณาการความร่วมมือจัดติดตั้งตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ใช้พลังงานไฟฟ้าให้บริการกับรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะในพื้นที่และรถจักรยานยนต์รับจ้างของพ่อค้า-แม่ค้าตลาดศาลายาให้สอดรับกับนโยบายการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ศาลายาสมาร์ทซิตี้ โดยเฉพาะการลดมลพิษจากควันของท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ที่มีอยู่จำนวนมากในพื้นที่ตลาดและจุดรอบสถานี นอกจากนั้นยังเร่งพัฒนาให้พร้อมรองรับการเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และไฮสปีดเทรนของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)

ทั้งนี้ปัจจุบันโมเดลที่ได้มีการพัฒนาขึ้นสำเร็จแล้ว คือ ความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) ติดตั้งตู้สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในพื้นที่บางกรวย จ.นนทบุรี จำนวน 9 จุด เพื่อการเปิดให้บริการกับรถจักรยานยนต์รับจ้างจำนวน 50 คันในเฟสแรกก่อนที่จะขยายต่อเนื่องในระยะต่อไป ปรากฎว่าได้รับการตอบรับที่ดีมีรถจักรยานยนต์รับจ้างให้ความสนใจจัดหารถจักรยานยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น ทำให้ประหยัดพลังงาน และยังทำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน มีเงินเหลือนำกลับมาให้ครอบครัวเพิ่มขึ้น แถมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันหล่อลื่นส่งผลให้ประหยัดงบประมาณในการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงได้อีกมากมาย

“AMR ได้เคยเข้ามาดูพื้นในมหาวิทยาลัยมหิดลศาลายาแล้ว ทราบว่ามีรถชัตเติลบัสไฟฟ้าให้บริการนักศึกษาและคณาจารย์ตามจุดต่างๆรองรับไว้แล้วแต่โซนด้านนอกโดยรอบมหาวิทยาลัยยังไม่มี หากมองศักยภาพแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นจึงมานำเสนอผู้บริหารตลาดโดยยกโมเดลของกฟผ.-มจพ. มาให้พิจารณาเนื่องจากทราบว่าทางตลาดก็มีแผนปรับปรุงพื้นที่จึงน่าจะสอดรับกับแผนพัฒนาในครั้งนี้ด้วยเพื่อให้เป็นพื้นที่สมาร์ทซิตี้ตามวัตถุประสงค์นั่นเอง”

ด้านนายโสภณ ยงใจยุธ กล่าวว่า ทางตลาดเตรียมปรับปรุงอาคารและปรับภูมิทัศน์พื้นที่ครั้งใหญ่ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแบบของเทศบาลพุทธมณฑลตามที่ตลาดได้นำเสนอ ทั้งนี้เพื่อเตรียมรองรับการเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายาและรถไฟความเร็วสูงสายใต้ที่มีแผนก่อสร้างของรฟท.

“คาดแล้วเสร็จกลางปี 2566 อีกทั้งตลาดแห่งนี้ยังมีแผนเพิ่มศักยภาพในหลายๆด้าน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ตลอดจนศักยภาพของผู้ค้าในตลาดให้สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้สูงขึ้น พร้อมกันนี้ยังคิดการพัฒนาแพลตฟอร์มให้รวมเป็นหนึ่งเดียวให้บริการสำหรับตลาดแห่งนี้ มุ่งให้เป็นเอกลักษณ์ชัดเจนและสินค้าต้องไม่เหมือนกับตลาดอื่นๆ รูปแบบเดลิเวอรี่ ออนไลน์ และเทคอะเวย์ เป็นหลัก ให้รองรับความต้องการใช้บริการตลาดแห่งนี้ได้ครอบคลุมทั้ง 3 มื้อ อีกทั้งยังเตรียมแบ่งผู้ผลิตกับผู้ขายออกจากกัน ดังนั้นภาพในอนาคตของตลาดศาลายาจึงจะเป็นตลาดต้นแบบของการปรับตัวเองเพื่อให้รุกสู่ตลาดออนไลน์ แพลตฟอร์มที่เกี่ยวกับเดลิเวอรี่ทั้งหมดได้ ดังนั้นกลุ่มไรเดอร์ระยะ 3-5-8 กิโลเมตรจึงต้องชัดเจนด้านการใช้แพลตฟอร์มนี้”

นอกจากนั้นอีกไม่เกิน 3 เดือนต่อจากนี้ตลาดจะติดตั้งจอแอลอีดียาว 20 เมตร สูง 5 เมตรไว้ด้านหน้าโครงการ ผู้คนที่ผ่านไปมาจะทราบได้ทันทีว่ามีผลิตภัณฑ์ในตลาดอะไรบ้าง สามารถรีวิวให้ผู้ชมติดตามได้อย่างต่อเนื่อง เท่านั้นยังไม่พอยังเตรียมแผนติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ใช้งานด้านต่างๆในตลาดแห่งนี้ซึ่งกำหนดแผนรองรับเอาไว้แล้ว

ด้านนายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักแผนงาน กรมทางหลวง(ทล.) กล่าวว่า ทล.อยู่ระหว่างการปฐมนิเทศโครงการครั้งที่ 1 พร้อมรับฟังความเห็นประชาชนโครงการก่อสร้างถนนแนวใหม่ เชื่อมโยงถนนพุทธมณฑลสาย 4 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 (มอเตอร์เวย์) บางใหญ่-กาญจนบุรี ของกรมทางหลวง หนึ่งในโครงการของแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ในแผนงานปี พ.ศ.2567-2572

โดยจะเป็นแนวเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยงได้ตั้งแต่ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) มุ่งทิศเหนือผ่านทางหลวงหมายเลข 3091 (อ้อมน้อย-สมุทรสาคร) ทางหลวงชนบท สค.2018 (ถนนพุทธสาคร) และทางหลวงหมายเลข 3310 (ถนนพุทธมณฑลสาย 4) ที่ปัจจุบันสิ้นสุดที่ใกล้สถานีรถไฟศาลายาใกล้กับตลาดศาลายา

จากนั้นผ่านแนวถนนโครงการฯ เข้าสู่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสู่ ภาคตะวันตก ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากถนนกาญจนาภิเษก ที่ทล.มีแผนก่อสร้างเป็นมอเตอร์หมายเลข 9 ในเร็วๆนี้

ทั้งนี้โครงการต่อขยายถนนพุทธมณฑลสาย 4 เชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 (มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี) กรมทางหลวงได้ดำเนินการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอ 21 คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ดีไว พลัส จำกัด บริษัท ลูเซ่ ครีเอชั่น จำกัด และบริษัท กรีน พลาเน็ท คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาโครงการฯ วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อสำรวจและออกแบบรายละเอียด ตลอดจนจัดเตรียมเอกสารข้อมูลประกอบการประกวดราคาและประเมินราคา และเพื่อศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตลอดแนวเส้นทางโครงการ โดยมีระยะเวลาการศึกษาทั้งหมด 450 วัน

แนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นโครงการตั้งอยู่บริเวณปลายถนนพุทธมณฑลสาย 4 (ทางหลวงหมายเลข 3310) ที่เชื่อมต่อกับทางหลวงชนบทหมายเลข นฐ.4006 (แยกหอนาฬิกาศาลายา) และไปสิ้นสุดที่จุดบรรจบกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี

ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาเส้นทางโครงการจำนวน 5 ตำบล ในเขตพื้นที่ 4 อำเภอ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ตำบลศาลากลาง อำเภอบางกรวย ตำบลบ้านใหม่ ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี และแขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร รวมระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร

ที่มา UCD News