15 กุมภาพันธ์ 2565

AMR แจ่ม! คว้างานโครงการ Saphan Project มูลค่า 132 ลบ. ลุยประมูลงานใหม่ 5 หมื่นลบ. ปักหมุดผลงานปีนี้โต 40%

บมจ. เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR) เดินหน้าคว้าโปรเจคใหม่ Saphan Project (Underground Fiber Cable) ของ "เดอะวิน เทเลคอม" มูลค่า 131,992,000 บาท งานประเภทติดตั้งบ่อพักพร้อมท่อร้อยสายเพื่อรองรับการเชื่อมต่อ Cable Submarine จากต่างประเทศ จำนวน 3 เส้นทาง ฟากเอ็มดี "มารุต ศิริโก" ระบุ การรับงานในปีนี้จะทำให้ Backlog เพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 2,000 ล้านบาท โดยเล็งยื่นเข้าประมูลงานอีก 50,000 ล้านบาท คาดหวังได้รับงานใหม่ไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าผลงานปีนี้โต 40% จากปีก่อน

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามในสัญญาจ้างเหมาดันท่อ Microduct HDD ใต้ดิน และวางสายเคเบิลใยแก้วของ Saphan Project (Underground Fiber Cable) กับ บริษัท เดอะวิน เทเลคอม จำกัด มูลค่าโครงการ 131,992,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ทั้งนี้ ลักษณะงานจะเป็นการติดตั้งบ่อพัก พร้อมท่อร้อยสายเพื่อรองรับและเชื่อมต่อ Cable Submarine จากต่างประเทศ (Underground Fiber Cable) จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางสตูล-ตรัง 88 กิโลเมตร เส้นทางตรัง-พัทลุง 64 กิโลเมตร และเส้นทางพัทลุง-หาดใหญ่ 50 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 202 กิโลเมตร กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ 210 วัน เป็นการพัฒนาระบบเครือข่ายของบริษัทคู่ค้าของบริษัท เดอะวิน เทเลคอม จำกัด เพื่อให้มีการเชื่อมโยงครอบคลุมการให้บริการมากขึ้น

"การรับงานในครั้งนี้จะช่วยทำให้มูลค่างานในมือรอรับรู้รายได้ (backlog on hand) แตะระดับ 2,000 ล้านบาท ณ ปัจจุบัน ซึ่งแนวโน้มการเปิดให้ประมูลงานใหม่เริ่มทยอยออกมากขึ้น หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทรงตัว โดยคาดว่าบริษัทฯ จะเตรียมพร้อมเข้ายื่นประมูลงานใหม่ที่ออกมาราว 50,000 ล้านบาท และคาดหวังว่ามีโอกาสจะได้งานประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท อีกทั้งจะเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจที่มีรายได้ประจำ และรายได้ในส่วนธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานมากขึ้น"

สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 2565 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 40% เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือที่มีอยู่แล้ว และคาดว่าในปีนี้จะมีงานโครงการใหม่ที่เปิดให้ประมูลมากขึ้น รวมทั้งบริษัทฯ จะมีการทยอยรับรู้รายได้จากธุรกิจที่มีรายได้ประจำ และรายได้ในส่วนธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานมากขึ้นด้วย

บริษัทฯ ได้วางงบลงทุนในปีนี้ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท โดยมีนโยบายที่จะรุกขยายการลงทุนไปในธุรกิจด้านการให้บริการ และร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และ/หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับระบบคมนาคม เช่น ระบบขนส่งสายรอง ระบบเคเบิลคาร์เพื่อการท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทดแทน ระบบสาธารณูปโภค และระบบอัจฉริยะของเมืองและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) สนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: share2trade