18 มกราคม 2565

AMR เร่งต่อยอดงานวิจัย "สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า"

AMR เปิดมิติใหม่ด้านพลังงาน เร่งต่อยอดองค์ความรู้งานวิจัย "โครงการสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า" หนุนภาคเอกชนร่วมสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ เพื่อช่วยลดสาเหตุการก่อเกิดมลพิษ พร้อมเปิดรับนักลงทุนเร่งกระจายสถานีสับเปลี่ยนฯ สู่พื้นที่ทำเลทองทั่วประเทศ ย้ำ!!!ข้อดีใส่ฟังก์ชั่นการทำงานได้อีกเพียบ

คุณสุดา พุทธศรี รองผู้อำนวยการ แผนกซอฟต์แวร์และแผนกงานวิจัยและพัฒนา(Deputy Director Software, Research and Development) บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย www.ucdnews.com ว่า ประสบความสำเร็จในการออกแบบและผลิต "สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า" รูปแบบตู้กึ่งอัตโนมัติสะดวกสบายและรวดเร็วในการใช้งาน

ล่าสุดร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดตัวต้นแบบสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในงาน "บิดเปลี่ยนโลก" และพร้อมให้บริการกับวินจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ก่อนที่จะเร่งขยายโครงการดังกล่าวไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไปตามความสนใจของนักลงทุนด้านพลังงานสะอาด หรือเมืองสมาร์ทซิตี้ที่สนใจ

โดยกระบวนการใช้งานง่ายๆเพียงยืนยันตัวตนในจุดที่กำหนด เมื่อตู้เปิดออกก็นำแบตเตอรี่ที่หมดพลังงานไฟฟ้าใส่เข้าไปในช่องว่าง เสียบสายชาร์จไฟ แล้วตู้ก็จะปิดโดยอัตโนมัติ หลังจากนั้นตู้จะคัดเลือกแบตเตอรี่ที่พร้อมใช้งานและเปิดช่องเพื่อให้ผู้ใช้งานนำแบตเตอรี่ออกจากตู้ แล้วตู้จะปิดอัตโนมัติ ผู้ใช้งานสามารถนำแบตเตอรี่ไปใช้งานกับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้ทันที

ปัจจุบันกำลังดำเนินการออกแบบตู้มาตรฐานเพื่อให้สามารถรองรับแบตเตอรี่ของรถหลายๆ ยี่ห้อ และในอนาคตเมื่อมีมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักยานยนต์ไฟฟ้าทางบริษัทจะได้สามารถผลิตสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่เพื่อรองรับได้ทันที หลักการเบื้องต้นในการออกแบบเราคำนึงถึง ความสะดวกสบายของผู้ใช้งานเป็นหลัก ทั้งในเรื่องของการผ่อนแรงในการนำแบตเตอรี่เข้าช่องชาร์จเนื่องจากแบตเตอรี่ในท้องตลาดปัจจุบันมีน้ำหนักค่อนข้างมาก และลดขั้นตอนการใช้งานที่หน้าตู้ไม่ให้ยุ่งยากจนเกินไปเป็นการลดภาระและเวลาให้กับผู้ใช้งานอีกด้วย

คุณสุดากล่าวต่อว่า สำหรับนักลงทุนผู้สนใจสถานีสับเปลี่ยนแบตฯ ทาง AMR สามารถปรับแต่งสถานีเพื่อให้เหมาะสมกับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแต่ละแบบอีกด้วย ประการสำคัญ AMR ยังวางแผนพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถรองรับการจัดการอุปกรณ์ในระบบของผู้ประกอบการ เช่น สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และผู้ขับขี่ ยังสามารถใช้ Mobile Application เพื่อค้นหาสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่มีแบตเตอรี่พร้อมบริการ อีกทั้งยังรองรับการคำนวน Carbon Footprint อีกด้วย แพลตฟอร์มนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจยานพาหนะพลังงานสะอาดเพื่อลดมลพิษ อีกทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายกว่ารถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงอีกด้วย

โดยสถานีดังกล่าวสอดรับกับนโยบายของกฟผ.ที่ต้องการลดมลพิษ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งรถจักรยานยนต์และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่โครงการที่ AMR คิดค้นวิจัยและผลิตออกมาใช้งานนำร่องเป็นโมเดลต้นแบบร่วมกับกฟผ.ในครั้งนี้สามารถสนองนโยบายได้เป็นอย่างดี รัฐจึงควรสนับสนุนโครงการให้ขยายออกไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในระยะต่อไป

ปัจจุบันพบว่าได้มีทั้งการผลิตและนำเข้ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายหลากหลายยี่ห้อ แต่ละรุ่นหรือยี่ห้อก็มีการใช้งานสถานีสับเปลี่ยนแบตฯที่แตกต่างกันไป ดังนั้นสถานีเดียวจึงยังไม่สามารถใช้ได้กับรถทุกยี่ห้อ ยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน แต่คาดว่าในอีกไม่นานมาตรฐานของจักรยานยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าจะมีการกำหนดมาตรฐานออกมาชัดเจนยิ่งขึ้น

หนุนกฟผ.จัดแคมเปญสร้างแรงจูงใจการใช้งาน

คุณสุดากล่าวต่อว่า AMR เห็นด้วยอย่างยิ่งที่กฟผ.เร่งสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนทั่วไปหันมาใช้บริการรถจักรยานยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้นตามนโยบาย 30/30 ของรัฐ โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ พิจารณาแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศเพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยมาตรการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) : ปี 2564 - 2565 นำร่องส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั่วประเทศ

ระยะที่ 2 : ปี 2566 - 2568 พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแรกและถือว่าเป็นเป้าหมายการผลิตในระดับ Economy of Scale

ระยะที่ 3 : ปี 2569 - 2573 ขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย 30/30 ซึ่งมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน คิดเป็น 30% ของการผลิตในปี 2573 และรวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศด้วย

"สำหรับโมเดลแรกนี้รวมใช้ระยะเวลาราว 10 เดือนจึงผลิตออกมาใช้งานได้ ดังนั้นจึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนผู้สนใจจะนำติดตั้งในจุดต่างๆทั้งปั้มน้ำมันขนาดใหญ่ ในหมู่บ้าน ชุมชน AMR ยินดีให้คำแนะนำและพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับนักลงทุนผู้สนใจ"

คุณสุดากล่าวอีกว่า ข้อจำกัดในขณะนี้แม้ว่า AMR จะได้คุยกับผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์หลายยี่ห้อ พบว่าคุณสมบัติตลอดจนรูปร่างแบตฯ หรือน้ำหนักแบตฯแตกต่างกัน AMR จึงยังคงเดินหน้าศึกษาวิจัยต่อไป และอีกราว 1-2 เดือนนี้จะมีการติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 3 จุดในบางกรวยเพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้รถจักรยานยนต์มาประกอบการวิจัย

แนะโอกาสทางธุรกิจผู้ประกอบการ/นักลงทุนผุดสถานีสับเปลี่ยนฯ

คุณสุดา กล่าวว่า ปัจจุบัน AMR ไม่ได้ผลิตเฉพาะสถานีสับเปลี่ยนแบตอัตโนมัติเท่านั้นเพื่อมุ่งให้ผู้ใช้งานใช้ง่ายไม่ซับซ้อน โดยได้ผลิตออกมา 2 เวอร์ชั่นให้เลือกใช้บริการ ส่วนงบประมาณแต่ละสถานีขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าว่าต้องการรูปแบบใดบ้าง จำนวนตู้ชาร์จ จึงมีให้เลือกได้ทั้งราคาที่จับต้องได้ และแบบครบออโตเมชั่นตามฟังก์ชั่นใช้งาน หรือกึ่งออโตเมชั่น ใช้พื้นที่ไม่มากในการติดตั้งแต่ละสถานี

"AMR มีแผนพัฒนาในอนาคตหากมีมาตรฐานมอก.กำหนดออกมาชัดเจนจึงพร้อมทำให้ชาร์จได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ เพื่อให้นำไปติดตั้งในจุดต่างๆที่มีการใช้งานของรถจักรยานยนต์จำนวนมากๆ เช่น วินจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ ตลอดจนบริษัทด้านโลจิสติกส์ที่ใช้รถจักรยานยนต์รับ-ส่งของในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้สามารถให้บริการได้รวดเร็วทันใจ ต่อเนื่องไม่สะดุด ไม่ต้องรอชาร์จนาน 3-4 ชั่วโมง"

แนวทางขยายศักยภาพสถานี

คุณสุดา กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีแผนจะทดลองใช้แอพพิเคชั่นออกมาใช้งานช่วงกลางปีนี้เพื่อบอกว่าสถานีในระยะใกล้เคียงมีอยู่จุดใดบ้าง มีตู้หรือแบตฯที่ชาร์จเต็มแล้วจำนวนมากน้อยอย่างไรให้ผู้ใช้บริการที่แบตใกล้หมดสามารถแวะเข้าไปสับเปลี่ยนได้เลยทันทีเป็นการเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการได้อีกทางหนึ่งด้วย

โดยขณะนี้วินจักรยานยนต์รับจ้างที่เข้ามาร่วมโครงการกับกฟผ.จะได้รับบัตรสมาร์ทการ์ดไปใช้งาน สามารถสับเปลี่ยนแบตได้หลายครั้ง ดังนั้นจึงสามารถกำหนดรูปแบบให้บริการได้อย่างหลากหลายสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเปิดสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ AMR คิดค้นวิจัยในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งการลงทุนใหม่ที่มีแนวโน้มการเติบโตทั้งในเมือง นอกเมือง หรือตามสถานที่ต่างๆที่มีรถจักรยานยนต์เข้าไปใช้บริการจำนวนมากในแต่ละวัน

"AMR ไม่ได้เป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์เองแต่จะมุ่งทำแพลตฟอร์มการใช้งานให้สะดวกสบายรวดเร็วและครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้บริการ ประการสำคัญ AMR อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนโครงการสมาร์ทซิตี้ ซึ่งตัวสถานีสับเปลี่ยนแบตฯก็จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของสมาร์ทโมบิลิตี้ หากหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ หรือผู้ประกอบการรายอื่นสนใจก็สามารถนำไปดำเนินการได้ทันที เพื่อบริการนักท่องเที่ยวเช่าใช้บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไปใช้งานในพื้นที่นั้นๆ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้บริการ ดังนั้นหากภาครัฐอย่างกระทรวงพลังงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆให้การสนับสนุนส่งเสริมการใช้งานอย่างแพร่หลายเชื่อว่าจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศได้อีกมากมาย" คุณสุดากล่าวในตอนท้าย

ที่มา : ucdnews.com