12 พฤศจิกายน 2564

ปั้น "อุดร-ขอนแก่น" พัฒนาโครงข่ายเชื่อมโลก

กฎบัตรไทยผนึกเครือข่ายรัฐ-เอกชนเมืองอุดรธานี เร่งเพิ่มศักยภาพโครงข่ายคมนาคมหนุนอุดรฯ-ขอนแก่นเชื่อมไทย-เชื่อมโลก จัดสัมมนาออนไลน์ “พลิกอุดรธานีเชื่อมโลกทางอากาศและทางราง ข้อเสนอกลยุทธ์เร่งรัดการเพิ่มขีดความสามารถอีสานตอนบนด้วยคมนาคมขนส่งเขียว” ในวันที่ 19 พย. 64 เวลา 13.00-17.00 น. ณ ห้องบ้านผือ โรงแรมเซ็นทารา โฮเทลแอนด์คอนเวนชั่น อุดรธานี

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทยและเลขานุการกฎบัตรไทย เปิดเผยกับ www.ThaiMOTnews.com ว่า ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งส่วนกลางและพื้นที่จังหวัดอุดรธานี อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เทศบาลนครอุดรธานี สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เฟซบุคโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย สมาคมการขนส่งมวลชนไทย และสมาคมการผังเมืองไทย จัดประชุมสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ “พลิกอุดรธานีเชื่อมโลกทางอากาศและทางราง ข้อเสนอกลยุทธ์เร่งรัดการเพิ่มขีดความสามารถอีสานตอนบนด้วยคมนาคมขนส่งเขียว” ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น. ณ ห้องบ้านผือ โรงแรมเซ็นทารา โฮเทลแอนด์คอนเวนชั่น อุดรธานี

โดยได้เรียนเชิญนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวเปิดงาน และนายวีรพงษ์ เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวรายงาน จากนั้นรศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารทุนการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.)บรรยายพิเศษ เรื่องการใช้ฐานวิจัยเพื่อการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสานตอนบน ต่อเนื่องด้วย นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ประธานกฎบัตรไทยและนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยบรรยายสรุป “บทบาทกฎบัตรไทยในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันพื้นที่อีสานตอนบน”

สำหรับช่วงเวลาตั้งแต่ 13.30 น.เป็นต้นไปจะเป็นช่วง Keynote ของวิทยากรพิเศษโดยดร.ธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี จะมาพูดถึงเรื่อง “ข้อเสนอการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจนครอุดรธานีสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันพื้นที่อีสานตอนบน” ต่อด้วย ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายจิรวัฒน์ จังหวัด ผู้ก่อตั้งเฟซบุคแฟนเพจ โครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย กล่าวถึง “3 ข้อเสนอการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อทางรางเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงไทย-สปป.ลาว-จีน”

ส่วนในช่วงเวลา 15.00 น.เป็นต้นไปจะเป็นช่วงการเสวนาพิเศษเรื่อง “ศักยภาพและโอกาสในการพัฒนากลุ่มจังหวัดอีสานตอนบนเป็นระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรมของภูมิภาค” โดยวิทยากรประกอบด้วย นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) ว่าที่นายกสมาคมการขนส่งมวลชนไทย นายเวชยันต์ ช้างรักษา เลขานุการนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี นายวีรพงษ์ เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี นายธนกร วีรชาติยานุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ดร.สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดี วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยผู้แทนสมาคมหรือชมรมโรงแรมจังหวัดอุดรธานี โดยมีนายธรรมรงค์ ราชามุสิกะ อุปนายกสมาคมการผังเมืองไทยและกรรมการกฎบัตรไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ปิดท้ายด้วยนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย และเลขานุการกฎบัตรไทย กล่าวถึงการสรุป “ข้อเสนอกลยุทธ์เร่งรัดการเพิ่มขีดความสามารถอีสานตอนบนด้วยคมนาคมขนส่งเขียว” ของการจัดสัมมนาในครั้งนี้

ปั้นสนามบินและรถไฟ “ขอนแก่น-อุดรฯ” เชื่อมโครงข่ายโลก

นายฐาปนา กล่าวต่อว่า ส่วนที่โฟกัสของงานจะมี 2 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก การเตรียมความพร้อมของพื้นที่เอกชนและรัฐสามารถดำเนินการได้โดยที่ไม่เข้าไปยุ่งเรื่องข้อกฎหมายใด ๆ และประเด็นที่สอง คือ กรณีสนามบินอุดรธานี ซึ่งได้มีมติคณะรัฐมนตรีมานานแล้วระบุว่าจากเดิมขึ้นตรงกับกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ให้ไปขึ้นตรงกับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. แต่ยังติดปัญหาข้อกฎหมายด้านการส่งมอบโอนทรัพย์สินกัน จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่คืบหน้า จึงเกิดแนวคิดให้ทอท.ไปเช่าบริหารแทนเพื่อยกระดับสนามบินอุดรธานีให้เป็นสนามบินเชื่อมโยงของอนุภูมิภาคนี้ หรือเชื่อมสู่ประเทศต่างๆเพื่อให้ศูนย์เศรษฐกิจอุดรธานีสามารถเชื่อมต่อกับทั่วโลกได้มากขึ้น จุดหนึ่งยังสามารถยกระดับสนามบินอุดรธานีและขอนแก่นให้เพิ่มขีดความสามารถเช่นเดียวกับสนามบินดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิได้อีกด้วย

ประการสำคัญขณะนี้หลายฝ่ายทราบแล้วว่ารถไฟจีน-สปป.ลาวจะเปิดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้แต่แทบไม่เห็นความเคลื่อนไหวของไทยโดยเฉพาะโซนพื้นที่อีสาน ดังนั้นหลายภาคส่วนในจังหวัดอุดรธานีจึงต้องการเห็นแผนปฏิบัติการมาเร่งขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมจริงๆ เพราะเชื่อว่านักท่องเที่ยวจากจีนประสงค์จะเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยด้วย ควรจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางการค้า การเชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจในเชิงการพาณิชย์ที่เกี่ยวเนื่องข้อกฎหมายการนำเข้า การค้าปลีก ให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดมากขึ้น

“ภายหลังเสร็จประชุมจะมีการทำข้อเสนอว่าต่อนี้ไปใครควรมีหน้าที่ทำอย่างไรบ้างเพื่อพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นไปอีก ในเมื่อมีโอกาสแล้วทำไมยังนิ่งเฉย แม้อุดรธานีจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคแต่ยังเป็นระเบียงเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาคนี้ได้อย่างดีอีกด้วย เพราะหนึ่งระเบียงเศรษฐกิจนั้นจะเกิดขึ้นได้ทั้งศูนย์เศรษฐกิจหลัก ศูนย์เศรษฐกิจรอง และศูนย์เศรษฐกิจประชิดพรมแดน ขอนแก่นและอุดรธานี ณ วันนี้จึงมีศักยภาพครบถ้วนพร้อมขับเคลื่อนได้ทันที”

พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าจังหวัดอุดรธานีนั้นมีศักยภาพด้านการเป็นศูนย์กลางในหลายๆด้าน โดยเฉพาะศูนย์กลางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางราง และทางอากาศสามารถยกระดับขีดความสามารถสู่เวทีระดับโลกได้ทันทีเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้ภาคอีสานและของประเทศไทยตลอดจนในภูมิภาคนี้

ประการหนึ่งรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมนี้แน่นอนว่านักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามาอุดรธานีเป็นจำนวนมากจึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมไว้ก่อน นอกจากนั้นยังเป็นการซ้อมเตรียมความพร้อมรับมือการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกไว้เนิ่นๆ

“อุดรธานีจะเติบโตต่อเนื่องจึงกระตุ้นให้ทุกคนร่วมคิด ร่วมทำ และวางแผนพัฒนาร่วมกัน ประการสำคัญสนามบินอุดรธานียังไม่ได้เป็นสนามบินนานาชาติที่ควรจะเชื่อมกับทั่วโลกได้จริงๆจึงต้องเร่งขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นตั้งแต่วันนี้เพื่อให้อุดรธานีเป็นประตูการค้าทางอากาศของประเทศไทยเช่นสุวรรณภูมิหรือดอนเมืองต่อไป ดังนั้นหากนักท่องเที่ยวมาถึงอุดรธานีจึงสามารถเดินทางต่อไปยังภูมิภาคต่างๆของไทยได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น การจัดสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นการฉายภาพแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งหรือโลจิสติกส์ทั้งระบบให้ทุกคนได้เห็นอย่างทั่วถึงกันเพื่อจะได้เตรียมตัวให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว โดยวิทยากรทุกคนล้วนมีความเชี่ยวชาญที่จะมาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา”

สอดคล้องกับที่นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) ว่าที่นายกสมาคมการขนส่งมวลชนไทย กล่าวว่า การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเส้นทางต่างๆ เป็นหน้าที่ของรัฐจะเข้าไปดำเนินการ แต่สมาคมฯพร้อมกลุ่มไทยทีมจะช่วยชี้นำพร้อมหาแนวทางเพื่อสะท้อนมุมมองการพัฒนาให้เกิดศักยภาพมากขึ้น ให้องค์ความรู้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรต่างๆว่าจะร่วมกันขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไร ส่วนเรื่องข้อจำกัดต่างๆคงจะนำไปไว้ทีหลัง อีกทั้งการหาเงินมาพัฒนาโครงการและการพัฒนาให้ยั่งยืนควรจะนำมาคิดให้รอบคอบก่อน

แนะเร่งเสริมศักยภาพโครงข่ายคมนาคม

ปัจจุบันโครงข่ายคมนาคมสายหลักยังคงเป็นรถไฟทางคู่ แล้วจะมีรถไฟความเร็วสูงจากนครราชสีมา- หนองคาย และสนามบินอุดรธานี แต่ยังขาดโครงข่ายเชื่อมไปยังประเทศต่างๆของโลก ซึ่งทำเลอุดรธานีสามารถบินเชื่อมหรือเดินทางไปยังอีกหลายประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคกลุ่มเพื่อนบ้านของไทยเมื่อมองจากระเบียงเศรษฐกิจทั้งแนวตั้งและแนวนอนของประเทศที่สามารถเชื่อมไปถึงจีน เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา อินเดีย บังคลาเทศ อุดรธานีจึงสามารถเพิ่มศักยภาพได้อีกมากมายกับระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว

“รัฐควรเร่งเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายต่างๆ มากกว่าจะเปิดให้ภาคเอกชนดำเนินการเองเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาในหลายเมืองที่เปิดให้บริการเดินรถสมาร์ทบัสก็บอกชัดเจนแล้ว เทศบาลควรเข้ามารับดำเนินการภายใต้รูปแบบโมเดลที่เหมาะสมให้ผู้รับบริหารจัดการอยู่ได้ ชาวบ้านได้ประโยชน์จริง ตัวอย่างนี้มีให้เห็นแล้วกับโครงการเดินรถไฟฟ้าในกทม.หรือรถเมล์บีอาร์ที สำหรับต่างจังหวัดอาจไม่จำเป็นต้องใช้รถเมล์ อาจเลือกใช้รถประเภทอื่นที่เหมาะสมก็ได้ อาทิ รถตู้ รถสองแถว เป็นต้น”

ที่มา thaimotnews