04 กันยายน 2564

ปักหมุด "รังสิต-หัวเมืองท่องเที่ยว" ต่อยอดแผนลงทุน AMR

“เอเอ็มอาร์ เอเซีย” รุกแผนธุรกิจเร่งต่อยอดแผนการลงทุน เล็งร่วมทุนท้องถิ่นปักหมุด “รังสิต-หัวเมืองท่องเที่ยว” พัฒนารถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมสายสีแดงที่รังสิตและพัฒนาเคเบิลคาร์ที่หัวเมืองท่องเที่ยวพร้อมร่วมให้คำแนะนำออกแบบฟีดเดอร์เชื่อมโยงรถไฟทางคู่ที่ปากน้ำโพกับเทศบาลนครสวรรค์

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด(มหาชน) :AMR เปิดเผย www.thaimotnews.com ว่าหลังจากเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว AMR เตรียมเดินหน้าแผนการลงทุนพัฒนาโครงการต่างๆทั้งการลงทุนเองและร่วมลงทุนกับหน่วยงานต่างๆเช่นผ่านกลุ่มไทยทีม :ThaiTEAM ที่เกิดจากการรวมตัวของภาคเอกชนในหลายกลุ่มธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบรางรูปแบบระบบรองในการเชื่อมโยงระบบหลักที่เรียกว่าฟีดเดอร์เพื่อป้อนผู้โดยสารต่อกันในหลายพื้นที่

โดยช่วงก่อนนี้ได้เข้าพบพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี(อบจ.ปทุมธานี) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรองในพื้นที่โดยเชื่อมโยงจากสถานีรังสิตของรถไฟชานเมืองสายสีแดงมายังจัดฟิวเจอร์พาร์คในเฟสแรกแล้วจึงขยายไปถึงสถานีคูคตของรถไฟฟ้าสายสีเขียว(บีทีเอส) ในเฟสต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหารถติดและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่ให้เข้าถึงระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าทั้งระบบหลักและระบบรองได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น

นอกจากนั้นยังทราบอีกว่ากระทรวงคมนาคมโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการศึกษารูปแบบฟีดเดอร์ด้วยเรือโดยสารและรถเมล์ EV เชื่อมจากรถไฟชานเมืองสายสีแดงไปถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี) อีกด้วย

“ยังมีความเห็นว่าหากยังเอารถเมล์มาวิ่งบนถนนที่รถจำนวนมากและการจราจรติดขัดดังที่ผ่านมา คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนให้หันมาใช้ระบบสาธารณะได้ แม้จะเปลี่ยนมาใช้รถ EV หรือจัดเลนเฉพาะก็ตาม แต่ถ้ายอมทำรถไฟฟ้าสายรองยกระดับหรือใช้ระบบรางเข้าไปแก้ไขปัญหาด้านการจราจร เพื่อให้เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจริงๆ”

ทั้งนี้โปรเจ็กต์โครงการพัฒนาระบบรองเชื่อมสายสีแดงรังสิตกับสายสีเขียวที่สถานีคูคตยังเดินหน้าต่อไปจากการได้ร่วมหารือกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีไปแล้ว 2 ครั้ง นอกจากนั้นสมาคมพัฒนาระบบขนส่งมวลชนไทยยังพร้อมเข้าไปดำเนินการร่วมกับกลุ่มไทยทีมเพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการไปสู่ความสำเร็จและเห็นผลเป็นรูปธรรมจริง

“แนวทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและเมือง อยู่ที่ อบจ.ปทุมธานีจะตัดสินใจกำหนดทิศทาง เข้าใจว่ามีหลายฝ่ายพร้อมสนับสนุนด้านองค์ความรู้วิชาการทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ มทร.ธัญบุรี สำหรับเอเอ็มอาร์ เอเซีย พร้อมระดมทุนกับพันธมิตรหลายฝ่ายและพร้อมบูรณาการเพื่อจัดทำแซนด์บ็อกซ์ให้สำเร็จด้วยระยะทางประมาณ 2-3 กม.ที่จะเชื่อมมาถึงฟิวเจอร์พาร์คให้ได้ก่อน แล้วจึงค่อยขยายไปสู่จุดอื่นๆในเฟสต่อไป อยากพัฒนาชานเมืองกรุงเทพให้เห็นความสำเร็จก่อนเพื่อดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้วิศวกรไทยได้เรียนรู้ให้มากที่สุดตามเป้าประสงค์ของกลุ่มไทยทีม”

ดันแผนยุทธศาสตร์ปทุมธานี

นายมารุตกล่าวอีกว่า นอกจากนั้นแผนการพัฒนายังต้องให้สามารถเชื่อมได้ทั้งรถ ราง เรือ ซึ่งปทุมธานีมีความพร้อมแล้ว อีกทั้งยังต้องทำให้ปทุมธานีได้รับผลเชิงบวกจากสนามบินดอนเมืองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้พี่น้องชาวปทุมธานีได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยจากการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน ประการหนึ่งนั้นพื้นที่แอร์คาร์โกของสนามบินดอนเมืองอาจปรับใช้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของปทุมธานีก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น หรือพัฒนาดอนเมืองให้เป็นฮับของคาร์โก้ได้อีกด้วย จึงต้องบูรณาการร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หรือทำให้พื้นที่ปทุมธานีและดอนเมืองคือ Air Cargo Hup ของประเทศไทย

“ปัจจุบันยังพบว่ามีบางพื้นที่นำมาพัฒนาให้เป็นฮับของรถบรรทุกได้ แต่เชื่อว่าแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและของปทุมธานีน่าจะมีสิ่งเหล่านี้ได้รับการบรรจุไว้แล้ว หากมีโอกาสเกิดขึ้นด้านคลังสินค้าของรถไฟที่ปทุมธานีได้ด้วยก็จะมีส่วนส่งเสริมโลจิสติกส์ได้ หรือเอามาอยู่รวมกันได้จะดีกว่าหรือไม่ให้เป็นไอซีดีปทุมธานีที่เพิ่มศักยภาพของพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งได้ ประการสำคัญหากเอาตลาดไทยมาพัฒนาเป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจด้วย สามารถพัฒนาด้านต่างๆให้ตลาดไทยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจก็จะทำให้ปทุมธานีเชื่อมโยงหลายๆ ด้านอย่างลงตัวมากขึ้น”

นายมารุตกล่าวอีกว่า นอกจากนั้นเอเอ็มอาร์ เอเซียยังมีแผนรุกจังหวัดต่างๆที่สนใจด้านการพัฒนาเมืองรูปแบบต่างๆโดยจะนำร่องที่ภูเก็ต และนครสวรรค์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ผู้บริหารเมืองเข็มแข็งเล็งเห็นความสำคัญด้านการพัฒนาด้านต่างๆ โดยภูเก็ตมีความพร้อมด้านการพัฒนาระบบฟีดเดอร์รูปแบบรถไฟฟ้ารางเบาหรือกระเช้ารูปแบบเคเบิ้ลคาร์ อีกทั้งนครสวรรค์จะมีรถไฟทางคู่จากลพบุรี-ปากน้ำโพ และแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ เกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ จึงต้องเร่งเชื่อมโยงให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วในการเดินทางจากสถานีปากน้ำโพ โดยได้เข้าไปร่วมออกแบบเมืองให้สามารถเชื่อมโยงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจริงๆ

“ภายใต้เมืองอัจฉริยะ 7 ด้านนั้น ด้านคมนาคมขนส่งอัจฉริยะเมืองภูเก็ต-นครสวรรค์มีศักยภาพพร้อมขับเคลื่อน แต่ยังต้องดูพฤติกรรมของคนและกายภาพของเมืองให้สอดคล้องกันต่อการพัฒนาให้ลงตัว ภูเก็ตน่าจะพัฒนาเคเบิลคาร์เพื่อการท่องเที่ยวและรถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมสนามบินได้ ส่วนนครสวรรค์จะมีรถไฟทางคู่เชื่อมเข้าสู่ตัวเมืองนครสวรรค์ยังไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างสะดวก ซึ่งต้องมาคิดว่าจะพัฒนารูปแบบรถรับ-ส่งคนระหว่างสถานีรถไฟปากน้ำโพกับเมืองนครสวรรค์ได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย เพื่อให้สามารถเรียกใช้บริการได้ภายใน 5-7 นาทีโดยไม่ต้องมาจอดรอ หรือทำระบบการจองรถให้มารอรับ รู้ค่าโดยสารและจ่ายค่าโดยสารผ่านมือถือ อีกทั้งสร้างความปลอดภัยเพราะสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ใดมารับอีกด้วย”

นายสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ และรองประธานกฎบัตรไทย กล่าวว่า รถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย รอการทำสัญญา จึงต้องรอรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ อีกทั้งนครสวรรค์มีจำนวนประชากรเกิน 1 ล้านคน เป็นอันดับ 2 รองจากเชียงใหม่ จึงต้องพึ่งพาพันธมิตรจังหวัดโดยรอบมาเพิ่มให้มากเป็น 2 ล้านคน คือ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ซึ่งเมืองที่จะสร้างสนามบินนานาชาติ ได้ต้องมีความหนาแน่นของประชากรประมาณ 10 ล้านคน นอกจากนั้นรถไฟความเร็วสูงก็จะผ่านจังหวัดนครสวรรค์และการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดให้เติบโต

ปี 65 มีลงทุนในนครสวรรค์ราว 1 หมื่นลบ.

อีกทั้งในปี 2565 พบว่าจะมีเอกชนเข้ามาลงทุนของไบโอฮับที่นครสวรรค์ประมาณ 6,000 ล้านบาท ตลอดจนกลุ่มเซ็นทรัลร่วมลงทุนกับรพ.สินแพทย์ไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท ดังนั้นปี 2565 จะมีการลงทุนในพื้นที่นครสวรรค์ราว 1 หมื่นล้านบาท จึงจะมีประชากรที่มีคุณภาพทั้งวิศวกร สถาปนิก หัวหน้างาน หรือระดับผู้จัดการหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยในนครสวรรค์เพิ่มขึ้น เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ จากการก่อสร้างโครงการต่างๆเหล่านี้

นอกจากมีแนวทางจะพัฒนาฟีดเดอร์เชื่อมโยงปากน้ำโพกับตัวเมืองนครสวรรค์แล้วยังเร่งหาผู้สนใจมาลงทุนพัฒนารถไฟเชื่อมโยงจ.ชัยนาท อุทัยธานี อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ที่จะเชื่อมไปถึงหนองปลาดุก ในจ.ราชบุรีกับเมืองนครสวรรค์ หากมีระบบรางยังจะส่งออกผลผลิตได้มากกว่าปัจจุบันเนื่องจากทั้ง 4-5 เมืองดังกล่าวทำการเกษตรป้อน 1 ใน 3 ของประเทศ ส่วนรูปแบบสมาร์ทบัสฟีดเดอร์เชื่อมโยงนั้นเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งที่วางแผนเอาไว้ก่อน เนื่องจากลงทุนน้อยที่สุดในขณะนี้ ผู้ใช้บริการจะต้องมีจำนวนมากถึงจะคุ้มค่าการลงทุน ดังนั้นการร่วมลงทุนจึงจะต้องได้ประโยชน์จากการพัฒนารอบๆสถานีได้ด้วย

ประการหนึ่งนั้นจากกรณีได้เห็นหลายเมืองมีการพัฒนาระบบฟีดเดอร์ในเมืองแล้วไม่ประสบความสำเร็จจึงนำข้อผิดพลาดเหล่านั้นมาพิจารณาพบว่าการสัมปทานหลักของเมืองยังอยู่ในเส้นทางเก่า ผู้ประกอบการหลายรายไม่ได้มีการพัฒนาใหม่ ไม่มีการปรับปรุงคุณภาพรถและบริการให้ดีขึ้น อีกทั้งยังวิ่งทับซ้อนให้เกิดปัญหาตามมาอีกหลายเส้นทาง แนวทางหนึ่งจึงต้องเจรจาชวนเข้ามาร่วมทุน หรือซื้อสัมปทาน เพื่อนำไปพัฒนาเส้นทางได้อย่างเต็มที่

“คงต้องเร่งหารายได้ทุกทางที่สามารถจะทำได้ แนวทางหนึ่งคือใช้พลังงานสะอาด เลือกประเภทรถให้เหมาะสม มีความอัจฉริยะ โดยเมื่อได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลก็น่าจะมีพื้นที่เมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นที่นครสวรรค์ แต่คำว่าสมาร์ทซิตี้มีด้วยกัน 7 ด้าน แต่ละด้านมีความสำคัญ ส่วนจะทำอะไรก่อน-หลังนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละเมืองจะมีความพร้อมด้านไหน ด้านคมนาคมอัจฉริยะเป็นเพียง 1 ใน 7 ด้าน ซึ่งนครสวรรค์เน้นไปที่ 4 ด้านก่อน ล่าสุดนำเสนอต่อสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa (ดีป้า) เพื่อผลักดันคาดว่าในเร็วๆนี้เทศบาลนครนครสวรรค์ก็จะประกาศเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ต่อไป”

นอกจากนั้นยังต้องมองเรื่องผังเมืองประกอบเนื่องจากหากมีผังเมืองที่ดีก็จะสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นนั้นๆ ต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสุขภาพประชาชน สามารถแบ่งศักยภาพของพื้นที่ว่าพื้นที่ไหนเหมาะเป็นพื้นที่มีความหนาแน่นสูง ปานกลาง และหนาแน่นน้อย ไม่ทำลายแหล่งน้ำหรือแหล่งเกษตรกรรมของเมือง

“ระยะทางจากสถานีปากน้ำโพถึงตัวเมืองนครสวรรค์ราว 2 กม. สามารถดำเนินการได้ก่อน แต่หากจะเชื่อมไปยังสถานีรถไฟความเร็วสูงนครสวรรค์(โซนพื้นที่หนองปลิง) ระยะทางราว 14 กม. ยังเห็นว่าไกลเกินไป ซึ่งไม่ถูกกับหลักการผังเมือง ปัจจุบันในเมืองมีรพ.เอกชนจำนวน 5 แห่ง ศูนย์การค้า 5 แห่งจึงได้เปรียบกว่า”

ที่มา : ucdnews